วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ชี้เทรนด์ค้าปลีก เร่งอัพเกรดสาขา จับลูกค้าพรีเมี่ยม

ค้าปลีกอาเซียนคึกคัก จับตาต่างชาติแห่ลงทุนอินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา ด้านค้าปลีกไทย "อีคอมเมิร์ซ-สะดวกซื้อ" มาแรง มาเลเซียจ่อลงทุนชิงส่วนแบ่งตลาดคอนวีเนี่ยน เซเว่นฯเดินหน้าลงทุน 600 สาขา เผยสาขาเมืองท่องเที่ยว-ค้าชายแดนคึกคักรับลูกค้าต่างชาติเพียบ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มูลค่าค้าปลีกภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลียหลังจากปี 2559 เป็นต้นไปมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องและคึกคักยิ่งขึ้น โดยปี 2558 ประเทศที่มีมูลค่าค้าปลีกมากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย อยู่ที่ 3.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยปี 2552-2558 อยู่ที่ 9.4% รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ ไทย และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือ เวียดนาม มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 12.1% รองลงมาคือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ส่วนไทยขยายตัวเฉลี่ย 5.9% 

ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวของค้าปลีกปี 2563 ประเทศในอาเซียนที่น่าจับตามากที่สุดคือ อินโดนีเซีย ที่ยังคงเป็นอันดับ 1 ทั้งเชิงมูลค่าขายและอัตราการขยายตัว รองลงมาเป็นเวียดนาม เมียนมา ส่วนไทยขยายตัว 9% 


"สเกลไทยกับเวียดนามยังต่างกันอยู่ แต่ก็ไล่กันมาระหว่าง 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ กับ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ที่น่าสนใจคือ เวียดนาม จะขยายตัวแซงหน้าไทย และมีมูลค่าค้าปลีกเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับไทยในปี 2563 เพราะโตเร็วมาก นอกจากนี้ มีโอกาสเห็นกลุ่มร้านสะดวกซื้อต่างชาติจะเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยประเทศที่มีศักยภาพคือ มาเลเซีย กลุ่มพาร์คสันที่เป็นอันดับ 1 ของร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจค้าปลีกไทยจะเข้าไปซื้อกิจการในอาเซียนมากขึ้น" 


นายอัทธ์กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของค้าปลีกไทยเติบโตลดลงตามเศรษฐกิจของประเทศ แต่ปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น คาดการณ์ค้าปลีกไทยมูลค่า 4.3 ล้านล้านบาท จะขยับเกือบ 7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นค้าปลีกสมัยใหม่ ประกอบด้วย อีคอมเมิร์ซ สะดวกซื้อ ค้าปลีกอื่น ๆ อีกกลุ่มคือ ค้าปลีกดั้งเดิม โดยปี 2558 มีค้าปลีกดั้งเดิมเป็นสัดส่วน 40% อีคอมเมิร์ซ 1.8% สะดวกซื้อ 8% ส่วนที่เหลือเป็นค้าปลีกสมัยใหม่อื่น ๆ แต่อีก 5 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนเป็นดั้งเดิม 30% ค้าปลีกสมัยใหม่ปรับตัวลดลงเหลือ 42% แต่ที่มาแรงมากที่สุดคือ สะดวกซื้อ 17% และอีคอมเมิร์ซเพิ่มเป็น 10% 

"ค้าปลีกดั้งเดิมยังมีสัดส่วนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ค้าปลีกสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น"

สำหรับมูลค่าค้าปลีกของโลกระหว่างปี 2554-2561 พบว่า ปี 2558 มีมูลค่าอยู่ที่ 18.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2559 คาดมีมูลค่ายอดขายเท่ากับ 19.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2561 ขยับเพิ่มเป็น 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราขยายตัวปี 2558 อยู่ที่ 6.4% ขยับเป็น 7.5% ในปี 2561 โดยภูมิภาคที่มีมูลค่าค้าปลีกมากที่สุดคือ เอเชียและออสเตรเลีย ซึ่งปี 2561 จะยิ่งมีความคึกคัก โดยเติบโตถึง 10.4% จากปี 2558 อยู่ที่ 7.6% รองลงมาคือ อเมริกาเหนือและยุโรปตะวันออกขณะที่มูลค่าค้าปลีกของโลกคาดว่าจะเติบโต 7.5% 

ด้าน ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวว่า ค้าปลีกไทยมีอัตราการเติบโตลดลง แต่ปีที่แล้วขยับขึ้นมา 3% เนื่องจากมาตรการช็อปเพื่อชาติของรัฐบาลปี 2559 กำลังซื้อกลุ่มกลาง-ล่างยังอ่อนแอ แต่กลุ่มกลาง-บนยังมีศักยภาพใช้จ่าย จึงเป็นโจทย์ที่ต้องกระตุ้น ดังนั้น ค้าปลีกกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ตจับกลุ่มลูกค้ากลาง-ล่างจึงโตลดลงจากที่เคยโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ส่วนกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตที่จับลูกค้ากลาง-บน และนักท่องเที่ยวยังคงเติบโต โดยเทรนด์ค้าปลีกจะพัฒนาโมเดลขยับขึ้นไปพรีเมี่ยมมากขึ้น ขณะที่รายใหม่เข้ามายังคงเน้นเรื่องราคาเป็นหลัก 


"ค้าปลีกไทยแข็งแรงมาก ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ อย่างโรบินสันและซูเปอร์สปอร์ตเข้าไปลงทุนที่เวียดนาม เซ็นทรัลที่จาการ์ตา แนวโน้มการควบรวมกิจการจะเกิดขึ้น และจะเห็นการควบข้ามอุตสาหกรรม ไม่ใช่แค่ค้าปลีกกับค้าปลีกเท่านั้น แบรนด์ที่แข็งแกร่งจึงจะอยู่รอด" 

นายพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ รองกรรมการผู้จัดการสำนักพัฒนาองค์กรคุณภาพและความยั่งยืน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีมามีสัญญาณการจับจ่ายที่ดีขึ้น สังเกตจากสาขาเดิมที่มีอัตราเติบโต 3-4% และยังมีลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมถึงจากประเทศเพื่อนบ้านที่ข้ามมาซื้อสินค้าในสาขาตามชายแดน โดยปีนี้ยังคงเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่องใกล้เคียงที่ผ่านมาประมาณ 600 สาขา พร้อมกับสร้างนวัตกรรมสินค้าและบริการ คัดสินค้าให้ตรงกับความต้องการ และร่วมกับเอสเอ็มอีเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า ส่วนการลงทุนต่างประเทศจะใช้แม็คโครเข้าไป

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1453962218

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น