วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

อีคอมเมิร์ซทะลุ 2 ล้านล้าน "นักช็อปไทย" ไม่แพ้ใครในอาเซียน

ณ วันนี้ไม่อาจปฏิเสธความแรงของอีคอมเมิร์ซในไทย ที่เติบโตตามการเพิ่มขึ้นของสมาร์ทดีไวซ์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่จะโตให้เต็มศักยภาพและยั่งยืน ควรจะมีข้อมูลสภาวะตลาดในปัจจุบันเพื่อคาดการณ์และวางกรอบการพัฒนาในอนาคต ทั้งในส่วนของนโยบายภาครัฐและการต่อยอดทางธุรกิจของเอกชน โดยเฉพาะในยุคที่รัฐบาลประกาศนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล 

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. จึงได้สำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศ เมื่อเมษายน ถึงตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในปี 2557 พร้อมศึกษาและคาดการณ์มูลค่าในปี 2558



อีคอมเมิร์ซปี58 ทะลุ 2 ล้านล้าน 

"สุรางคณา วายุภาพ" ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่า ในปี 2558 คาดการณ์มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยอยู่ที่ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.65% จากปี 2557 ที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านบาท มาจากอีคอมเมิร์ซระหว่างธุรกิจด้วยกัน (B2B) 1.2 ล้านล้านบาท, ระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) 4.7 แสนล้านบาท และระหว่างธุรกิจกับภาครัฐ (B2G) 4 แสนล้านบาท โดยการใช้จ่ายอีคอมเมิร์ซของ B2C กับ B2G เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.2% และ 3.9% ตามลำดับ ยกเว้น B2B ที่ปรับตัวลดลง

"จริง ๆ อีคอมเมิร์ซปีนี้ต้องโตทั้งตลาด เพราะตัวอุปกรณ์ และความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตในไทยค่อนข้างพร้อม แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจภายในยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เศรษฐกิจโลกก็ยังผันผวน ทำให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดน้อยลง เมื่อเทียบกับปี 2557 มูลค่าอีคอมเมิร์ซกลุ่ม B2B ลดลง 0.3% และสัดส่วนของ B2B ยังปรับลดจาก 74.6% เหลือ 71.7% แต่มีอีคอมเมิร์ซกลุ่ม B2C เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 27.6% มาทดแทน ส่วน B2G ยังมีสัดส่วนใกล้กับปีก่อน"

ค้าปลีก 78.36% ไม่มีหน้าร้าน

ทั้งนี้ เมื่อไม่รวมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ หรืออีออกชั่น "ค้าปลีก และค้าส่ง"คือกลุ่มที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 28.7% จากปี 2557 คิดเป็นมูลค่า 3.2 แสนล้านบาท เพราะผู้บริโภคกล้าตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ทั้งยังพบว่ากว่า 78.36% ของผู้ค้าใช้ช่องทางออนไลน์อย่างเดียว ไม่มีหน้าร้าน

ขณะที่ "บริการที่พัก" คือธุรกิจที่มีมูลค่ามากที่สุด ทั้งยังเพิ่มขึ้น 4.6% คิดเป็นมูลค่า 6.5 แสนล้านบาท แต่ "การประกันภัย" คือกลุ่มที่เติบโตลดลงมากที่สุด ราว 28.6% คิดเป็นมูลค่า 1.7 พันล้านบาท กับอุตสาหกรรมการผลิตที่ลดลง 20.5% คิดเป็นมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เพราะเศรษฐกิจไม่ฟื้นทำให้กลุ่มการผลิตไม่กล้าทำตลาด

ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซ ทำให้ "สพธอ." ยังไม่อาจคาดการณ์มูลค่าอีคอมเมิร์ซปี 2559 ได้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าจะต้องเติบโตในอัตราเดียวกับปี 2558 จากปัจจัยเสริมอย่าง บริการ 4G ที่ทำให้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ

"ผลสำรวจปี 2557 มูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ของไทยสูงถึง 4.1 แสนล้านบาท ถือเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน สูงกว่ามาเลเซียที่มีมูลค่า 3.4 แสนล้านบาท และสิงคโปร์ที่มี 1.2 แสนล้านบาท แต่ในปี 2558 ยังต้องรอให้ตัวเลขของประเทศอื่น ๆ ออกมาก่อนจึงจะบอกได้ว่ายังเป็นอันดับ 1 หรือไม่ แต่ก็ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่น่าสนใจของบริษัทต่างชาติในการเข้ามาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ"
จากนี้สพธอ.จึงจะเดินหน้าในการสนับสนุนทั้งข้อมูลและผลักดันการสร้างกลไกรัฐที่เอื้อต่อการค้าขายออนไลน์เช่นการขอให้ภาครัฐปรับลดอัตราภาษีการค้าออนไลน์เพื่อกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการชาวไทยมากขึ้น

แนะขยายตลาดตปท.หนีแข่งดุ

"ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซระดับท้องถิ่นยังไม่แข็งแรงจึงมีโอกาสที่ทุนจากต่างประเทศจะเข้ามาซื้อกิจการไปทั้งหมดทางสมาคมจึงวางแผนพัฒนาผู้ประกอบการและเตรียมสร้างช่องทางในการทำตลาดในต่างประเทศให้ง่ายขึ้นเนื่องจากตลาดในประเทศเริ่มแข่งขันสูงการขยายไปต่างประเทศจึงเป็นทั้งการขยายตลาดและโอกาสทางธุรกิจทั้งการสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งในจีนและสิงคโปร์เริ่มใช้กลยุทธ์นี้แล้ว

"จะทำอีคอมเมิร์ซให้สำเร็จ การทำโฆษณาออนไลน์ก็จำเป็น ยอดโฆษณาออนไลน์ในไทยปีนี้แตะ 9.8 พันล้านบาทแล้ว และปีหน้าคงทะลุ 1 หมื่นล้านบาทแน่นอน แต่ครึ่งหนึ่งเป็นเงินที่เราจ่ายให้เมืองนอก เช่น ซื้อโฆษณาบนกูเกิล, เฟซบุ๊ก และไลน์ ดังนั้นเมื่อจ่ายแล้ว ก็ควรไปทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น และดึงบริษัทเหล่านี้มาตั้งที่ประเทศไทยให้เต็มตัวซึ่งก็อยู่ที่มาตรการภาครัฐจะดูแลเรื่องนี้อย่างไร เพราะการค้าออนไลน์ ก็ต้องทำตลาดออนไลน์"

นอกจากนี้ สมาคมจะจัดงาน Thailand Online Mega Sale ในวันที่ 1-3 ธ.ค. เพื่อกระตุ้นให้การจับจ่ายออนไลน์ของผู้บริโภค โดยจะร่วมกับผู้ค้าชั้นนำมาลดราคาพร้อมกันซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 หลังจากได้รับผลตอบรับที่ดีในงานปีแรก

เร่งพัฒนาคนให้ทันเทคโนโลยี

"สรรเสริญ สมัยสุต" หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ กลุ่มบริษัทแอสเซนต์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องบุคลากรที่มีความรู้เรื่องอีคอมเมิร์ซ พบทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่มีความรู้ด้านช่องทางการขาย และการตลาดออนไลน์ ขณะที่อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ก็ขาดคนมารองรับการขยายตัวของธุรกิจ ทำให้ต้องจ้างต่างชาติและมีการซื้อตัวกันอย่างรุนแรงจนเกิดค่าตัวเฟ้อเกินจริง

"พอคนในประเทศมีพื้นความรู้เรื่องอีคอมเมิร์ซค่อนข้างน้อยคนที่มีประสิทธิภาพในการทำงานก็ต่ำลงและถึงภาครัฐจะสนับสนุนด้านอินฟราสตรักเจอร์เช่นการเปิดประมูล4Gหรือการทำบรอดแบนด์แห่งชาติ ถ้าคนไทยใช้ไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์ กลายเป็นคนที่ใช้คือ ทุนต่างชาติที่เข้ามาหาโอกาสธุรกิจในบ้านเรา ดังนั้นรัฐต้องใส่ใจเรื่องความรู้ กับแหล่งทุนเพื่อให้เกิดอีคอมเมิร์ซไทยแท้ นอกจากนี้ยังต้องสนับสนุนให้ไปทำตลาดในต่างประเทศด้วยเพราะถึงโอกาสในไทยยังกว้าง แต่การแข่งขันก็สูงมาก"

"ภวิน แย้มประเสริฐ" ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัท พันธวณิช จำกัด กล่าวเสริมว่า ในทิศทางของ B2B แม้ปีนี้จะเติบโตลดลงเล็กน้อย แต่ปี 2559 น่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติผ่านการที่ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ที่สำคัญการเริ่มต้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้เกิดอิสระทางการค้าซึ่งมีทั้งแง่บวก และแง่ลบกับธุรกิจ เพราะถึงจะมีโอกาสค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น แต่ด้วยอีคอมเมิร์ซของประเทศเหล่านั้นก็ค่อนข้างแข็งแกร่ง จึงต้องอาศัยการร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1448516610

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น