"จากที่อ่านได้บทความ 3 ตอนต่อของพี่ไปแล้ว หนูยังไม่แน่ใจว่าควรจะเปิดร้านขายบน Social ดีหรือเปล่าคะ??? พี่ช่วยบอกหน่อยว่าควรตัดสินใจยังไงดี"
ถ้าอย่างงั้นมาดูข้อเด่น และข้อที่ต้องใส่ใจเพิ่มเติมของการเปิดร้านขายของแบบยุคนี้กันดีกว่า แต่อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ทุกอย่างบนโลกนี้มีทั้งสองมุม ฉะนั้นผมเสนอทั้งมิติที่น่าสนใจ และน่าต้องระวังสำหรับให้คุณๆ ได้ตัดสินใจดูว่าโดนใจหรือยังนะครับ
ข้อที่น่าสนใจของการเปิดร้านขายของออนไลน์ จัดให้เลยครับทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้
- เปิดร้านขายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง แบบเดียวกับ 7-11 ที่ไม่มีเวลาปิดนะครับ (หรือถ้าบางคนไม่สะดวกเปิดตลอดทุกเวลา ก็สามารถตั้งเวลาเปิดปิดร้านได้) และไม่ต้องมีหน้าร้านจริงๆ ก็ขายสินค้าได้
- มีการลงทุนเริ่มต้นน้อยกว่า เพราะไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ที่มีโอกาสถูกบ้าง หรือแพงบ้าง ไม่ต้องเสียค่าตกแต่งร้านให้สวยงามอร่ามหรู ประหยัดการจ้างงาน ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานขายของมากมายจนเกินไป
- สินค้าที่คุณขายกระจายได้ไปทั่วประเทศไทย หรือทั่วโลกเลยก็ได้ แบบคุณไม่ต้องร้องเร่แห่แหนไปทุกจังหวัดนะครับ เพียงใช้สื่อออนไลน์ให้ได้ประโยชน์สูงสุดครับ
- มีระบบการจัดการร้านที่ดี อันนี้รวมไปถึงระบบการชำระเงินได้หลายรูปแบบ เช่น หักเงินบัตรเครดิต, Mobile Banking, Paypal ฯลฯ
- เจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าได้มากกว่า 1 กลุ่ม
- เราพูดคุยกับลูกค้าได้โดยตรงเลย ถ้าลูกค้าสนใจจะติดต่อเข้ามา เพื่อสอบถามสิ่งต่างๆ คุณเองก็สามารถแนะนำเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ ได้อีกด้วย
- มีช่องทางปล่อยของหลากหลาย ลองดูรอบตัวคุณครับ สื่อออนไลนืแทบจะกระแทกหน้าเราอยู่ทุกวันเลย ตั้งแต่ facebook, line, instgram, website, pinterest, อีเมล และอื่นๆ เราไม่ต้องใช้หมดนะครับ แต่เรื่องอันที่เหมาะกับคุณที่สุด ผมแนะนำว่าอย่างน้อยมีสัก 2 ช่องทาง เพื่อไว้เป็นแนวทางสำรองนะครับ
แนะนำข้อน่าโดนใจไปแล้ว 7 มุมมองแล้ว ขอพลิกมุมกลับมาอีกด้านหนึ่ง กับ 5 ข้อที่คุณต้องใส่ใจเป็นพิเศษถ้าจะเปิดร้านขายของออนไลน์นะครับ มาดูกันดีกว่ามีอะไรบ้าง
- อัตราการแข่งขันสูงลิ่วจริงๆ สำหรับธุรกิจแนวนี้ เพราะด้วยความสะดวกในการเปิดร้าน และใครๆ ก็อยากมีรายได้เสริมเพิ่มเติม หนึ่งแนวทางที่เลือกกัน คือการเปิดขายของผ่าน Social แหละครับ
- หลายๆ รูปแบบร้านค้าที่เปิดให้ใช้บริการตามเว็บต่างๆ ซึ่งเป็นแบบพื้นฐานที่กำหนดเอาไว้ ถ้าคุณอยากปรับเปลี่ยนอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือต้องอาศัยเทคนิคทางคอมพิวเตอร์มาเขียนโปรแกรม หรือแม้แต่ถ้าอยากมีเว็บของตัวเองเลย ก็ต้องใช้ความรู้ทางด้านภาษาคอมพิวเตอร์มาเพิ่มเติม (ซึ่งผมเองก็ไม่มี 555)
- การเปิดร้านค้าขึ้นมา คุณต้องมีเวลาให้กับร้านของคุณด้วยนะครับ เพราะคือแหล่งทำมาหากินของคุณหนึ่งแหล่งเลย ไม่ใช่เปิดร้านมาแล้วมาปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้เข้ามาเติมแต่งให้สวยงามน่ามองเลย ขยันหมั่นมาอัพเดทบ้างนะครับ
- จากข้อแรกที่บอกไปว่าปริมาณร้านค้าเยอะมาก คุณจะทำยังไงให้ร้านของคุณกลายเป็น คืนพิเศษคนพิเศษที่โดดเด้งเห็นชัดขึ้นมา หนึ่งกระบวนท่าที่ต้องทำ คือ การโปรโมทสินค้าให้เป็นที่รู้จัก บางคนอาจจะฝากร้านกับเพื่อนๆ ที่ให้ช่วยบอกต่อ หรือแชร์เพจใน facebook หรือถ้ามีสตางค์ก็อาจเป็นการซื้อโฆษณาโปรโมท (ลองอ่านตอนก่อนหน้านี้ ที่นี่ครับ ว่ามีอุปกรณ์ช่วยเราโปรโมทได้อย่างไรบ้าง)
- ข้อจำกัดของเวลาต่างๆ เช่น ลูกค้าต้องการให้ตอบข้อความในระยะเวลาอันสั้น, เช็คเงินค่าโอนสินค้าว่าได้หรือยัง, อยากได้สินค้าใน 3 วันเราก็ต้องส่งแบบ EMS ให้ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างกับการซื้อของตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปกติทั่วไป ที่จ่ายเงินซื้อแล้ว จับต้องสินค้าได้ทันทีนะครับ
เป็นยังไงบ้างครับกับทั้งสองด้านของความน่าสนใจ และสิ่งที่ต้องใส่ใจสำหรับการต้ดสินใจเปิดร้านขายของออนไลน์ ที่ผมชี้ประเด็นให้เห็นทั้งหมด เพราะว่าเราควรรู้ข้อมูลให้ครบทุกด้านก่อน เพื่อใช้ตัดสินใจที่ชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง เห็นข้อที่ต้องระวังอย่าเพิ่งไปกลัว จนไม่กล้าเปิดร้านนะครับ ลองมองกลับดูว่าถ้าเรารู้เหตุการณ์ล่วงหน้าแบบนี้แล้ว ก็หาวิธีมาป้องกัน หรือจัดระเบียบกันล่วงหน้าไปเลย เพื่อความสบายใจแบบเจ้าของร้านอย่างคุณ และลูกค้าที่น่ารักของคุณด้วยนั่นเองครับ แล้วเจอกันใหม่ในตอนหน้านะครับ...
ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก Google ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น